ประวัติ





ประวัติวัดธรรมจริยาภิรมย์
วัดธรรมจริยาภิรมย์ (เดิมชื่อวัดใหม่มธุรส) ตั้งอยู่บนพื้นที่นาราบลุ่ม เลขที่ 139 หมู่ที่ 1 ตำบลหลักสาม      อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2444 โดยมีชาวบ้านคณะหนึ่งในตำบลนี้ซึ่งมี               นายทิม ศรีนิเวศน์ และกำนันเอียงเป็นหัวหน้า ได้พากันไปปรึกษากับท่านพระครูธรรมจริยาเจ้าอาวาสวัดคฤหบดี ตำบลตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี (ตอนหลังยุบรวมเป็นกรุงเทพมหานครฯ)
ในขณะนั้นท่านได้มาบอกบุญอยู่ทางคลองดำเนินสะดวก ท่านได้ให้คำแนะนำและสนับสนุน เมื่อปรึกษาหารือกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายทิม กำนันเอียง และชาวบ้านได้รวบรวมเงินทำการจัดซื้อที่ดินจากนายทอง ได้แปลงหนึ่งในราคา 2 ชั่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 44 ไร่ ๑ งาน 36 ตารางวา อยู่ริมคลองดำเนินสะดวกฝั่งใต้ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลหลักสาม อำเภอบ้านบ่อ (ภายหลังเปลี่ยนเป็นอำเภอบ้านแพ้ว) จังหวัดสมุทรสาคร
การสร้างวัดในครั้งแรก เริ่มสร้างเป็นเพิง หลังคามุงจาก หลังยาวอยู่ริมคลองดำเนินสะดวก ต่อจากนั้นนายทิม ได้ส่งนายห่วง ศรีนิเวศน์ ซึ่งเป็นบุตรชายไปอุปสมบทที่วัดคฤหบดี พระครูธรรมจริยา เป็นรพระอุปัชฌาย์ พระห่วงได้กลับมาดูแลวัดในปีนั้น ชาวบ้านได้พร้อมใจกันตั้งชื่อวัดว่า “วัดใหม่มธุรส” ต่อมาพระครูธรรมจริยา ได้ขอเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “วัดธรรมจริยา” ซึ่งเป็นนามของท่านเอง ในฐานะที่ท่านได้ให้คำแนะนำและริเริ่ม ภายหลังได้มีคำต่อท้ายว่า ภิรมย์ จึงได้ชื่อว่า วัดธรรมจริยาภิรมย์ ซึ่งมีความหมายว่า ความยินดียิ่งในการประพฤติธรรม หรือ หมายความว่า สถานที่ร่มรื่นควรแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง
          สมัยพระภิกษุห่วง รักษาการอยู่นั้น นายว้ำ อั๋นประเสริฐ นายเกลื่อน ศรีนิเวศน์ เป็นผู้อุปถัมภ์ได้ช่วยกันสร้างกุฏิขึ้นใหม่หนึ่งหลัง ท่านได้ดูแลถึงปี พ.ศ. 2456 ต่อมาจึงได้นิมนต์ พระภิกษุบุญนาคซึ่งมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  มาเป็นผู้ดูแลวัด ท่านอยู่ดูแลวัดได้หนึ่งปี ต่อมา กรรมการผู้อุปถัมภ์ได้ไปนิมนต์หลวงตาจง จากวัดหลักหกรัตนาราม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส



          สมัยหลวงตาจง เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการก่อสร้างวัดเพิ่มเติม ท่านได้เดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรี        โดยล่องเรือไปตามลำน้ำแม่กลอง เพื่อหาซุงมาเลื่อยสร้างวัดเอง สภาพวัดตอนนี้มีกุฏิ 5 หลัง มีศาลาฟังธรรมหนึ่งหลัง ศาลาท่าน้ำหนึ่งหลัง หลวงตาจงและประชาชนเล็งเห็นความเจริญของวัด จึงคิดที่จะสร้างอุโบสถถาวร จึงได้ปรึกษาหารือ นายว้ำ นายงึ้นฮ้อ เลาหวานิช คหบดีเพื่อติดต่อขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 และได้รับพระบรมราชานุญาติพระราชทานให้นำพระบรมสาทิสลักษณ์ รูปเหมือนรัชกาลที่ 8 อยู่เหนือพระยาครุฑ ให้นำมาติดไว้หน้าพระอุโบสถ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวัดธรรมจริยาภิรมย์เป็นอย่างยิ่งจนมาถึงมาปัจจุบัน สมัยนั้นหลวงประสาน สิริราษฎร์ เป็นนายอำเภอ ได้รับอาสาเป็นหัวหน้าฝ่ายประชาชน เป็นผู้นำในการก่อสร้างพระอุโบสถ
          ปี พ.ศ. 2475 พระอธิการจง ได้มรณภาพลง ชาวบ้านจึงนิมนต์พระบุญรอด ทองเหลือง ซึ่งได้ติดตามพระอธิการจง มาจากวัดหลักหกรัตนาราม ให้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสแทน
          ต่อมาชาวบ้านได้เห็นว่าการก่อสร้างพระอุโบสถเป็นงานใหญ่ จึงได้นิมนต์พระใบฎีกาบุญธรรมเจริญทรัพย์ จากวัดสนามไชย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ. 2475 ให้มารับตำแหน่งเจ้าอาวาส ต่อจากพระบุญรอด
          สมัยของพระใบฎีกาบุญธรรม ท่านได้สร้างเสนาสนะเพิ่มเติม เช่น กุฏิ หอฉัน หอสวดมนต์ โรงเรียนปริยัติธรรม หอระฆัง ถังเก็บน้ำฝน และได้ก่อสร้างพระอุโบสถจนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2477 การก่อสร้างพระอุโบสถหลังนี้ แล้วเสร็จลงได้ยังคงอาศัยหลวงประสาน สิริราษฎร์ เป็นกำลังหลักอันสำคัญในการนำชาวบ้านมาช่วยกันก่อสร้าง พระใบฎีกาบุญธรรม ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมาจนถึง พ.ศ. 2487 ต่อจากนั้นทางวัดธรรมจริยาภิรมย์ได้วางเจ้าอาวาสลง ทางคณะสงฆ์ได้ทำการย้ายท่านเจ้าคุณพระมงคลโมลี (ตอนนั้นยังเป็น พระสมุห์โฉม สุนฺทโร) จากวัดสุนทรสถิต ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธรรมจริยาภิรมย์ เมื่อ พ.ศ. 2488



          สมัยที่ท่านเจ้าคุณพระมงคลโมลี เป็นเจ้าอาวาส เป็นช่วงเวลาที่นับว่า วัดธรรมจริยาภิรมย์มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจากท่านเป็นนักเทศน์ นักเผยแผ่ เป็นผู้มีระเบียบวินัยเคร่งครัด และปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้ดู จึงได้รับแรงศรัทธาจากประชาชนเป็นอย่างดียิ่ง จนได้รับสมณะศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระมงคลโมลี นับเป็นพระครูสัญญาบัตร และพระราชาคณะระดับชั้นเจ้าคุณองค์แรกของวัดธรรมจริยาภิรมย์ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าคณะอำเภอ และที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ
          การก่อสร้างในยุคของท่านเจ้าคุณพระมงคลโมลี เกิดขึ้นอย่างมากได้ปรับปรุงสร้างกุฏิใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กสามชั้น จำนวน 6 หลัง ปรับปรุงศาลาการเปรียญใหม่ สร้างเรือนไม้สามชั้น สร้างถังเก็บน้ำฝนใหม่แทนของเก่าที่ชำรุด สร้างเมรุ สร้างมณฑปที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท สร้างหอประชุมสุนทรธรรมวาที สร้างหอประชุมมงคลธรรม สร้างโรงครัว ซ่อมแซมบูรณะศาลาท่าน้ำ ซ่อมพื้นพระอุโบสถเป็นพื้นปูนหินอ่อน สร้างศาลาสวดพระอภิธรรม 4 หลัง รอบเมรุเพื่อใช้งานที่มีเพิ่มมากขึ้น
          การเผยแผ่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูต ได้ตั้งหน่วยเผยแผ่ศีลธรรมประจำอำเภอบ้านแพ้ว และนอกเขต จัดตั้งโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดธรรมจริยาภิรมย์ เป็นหน่วยอบรมประชาชนประจำอำเภอ มีห้องสมุด หนังสือ ได้ทำการสร้างหอกระจายข่าว เพื่อประโยชน์ของชุมชนในการรับข่าวสารจากทางวัด เข้าร่วมโครงการห้องเรียนเงินล้าน โดยนำนักเรียนเข้าเรียนธรรมะภายในวัด
          ท่านเจ้าคุณพระมงคลโมลี ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธรรมจริยาภิรมย์จนถึง วันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 จึงมรณภาพลง พระครูสมุห์สำรอง โชติธมฺโม รองเจ้าอาวาสวัดธรรมจริยาภิรมย์ได้รักษาการแทนเจ้าอาวาส จนถึง พ.ศ. 2552 ทางคณะสงฆ์ ได้แต่งตั้งพระใบฎีกาสมพงษ์ สมวโส ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา
          ในสมัยพระครูสาครจริยาภิรมย์ ได้ทำการก่อสร้างเพิ่มเติม โดยได้ร่วมกับกำนันเผอิญ ศรีนิเวศน์ ทำการก่อสร้างวิหารสำหรับประดิษฐานรูปหล่อเหมือนท่านเจ้าคุณพระมงคลโมลี ปรับปรุงหอมงคลธรรมเป็นหอสวดมนต์ บูรณะพระอุโบสถและกุฏิ วิหาร ที่ชำรุดทรุดโทรมใหม่ ได้ทำการจัดซื้อที่ดินจำนวน 1 ไร่ สำหรับทำการก่อสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างซุ้มประตูทางเข้าวัดโดยมีนายสมชาย บุตรเลียบ เป็นผู้นำในการก่อสร้าง


          ศาสนสมบัติที่ควรจารึกไว้ในพระพุทธศาสนา ของวัดธรรมจริยาภิรมย์
          พ.ศ. 2478 ตระกูลศรีสุวรรณร่วมกับคณะ ได้สร้างพระประธานประจำอุโบสถหน้าตัก 49 นิ้ว ให้ชื่อว่า หลวงพ่อธรรมจักร เป็นปางสะดุ้งมาร เกตุเปลวเพลิงราคา 2,000 บาท ปัจจุบันมาประดิษฐานหน้าอุโบสถ
          พ.ศ. 2525 คุณชอุ่ม สุขเจริญ ได้สร้างพระพุทธรูป หน้าตัก 59 นิ้ว ราคา 120,000 บาท ทางวัดได้จัดปิดทอง และนำประดิษฐานเป็นพระประธาน ในพระอุโบสถแทนองค์เดิมที่ยกมาประดิษฐานหน้าอุโบสถ
          พ.ศ. 2542 มีญาติโยมจิตศรัทธาสร้างพระประธานหน้าตัก 60 นิ้ว มาประดิษฐานไว้หลังพระอุโบสถ
          พ.ศ. 2553 พระใบฎีกาสมพงษ์ ร่วมกับกำนันเผอิญ ศรีนิเวศน์ เป็นผู้นำชาวบ้านทำการหล่อรูปเหมือนท่านเจ้าคุณพระมงคลโมลี ขนาดเท่าองค์จริง ประดิษฐานไว้ที่วิหารสร้างใหม่ริมคลองดำเนินสะดวกพร้อมกับย้ายมณฑปจากด้านใน ไปตั้งไว้ริมคลองคู่กับวิหารของท่านเจ้าคุณพระมงคลโมลี
          พ.ศ. 2553 ทางเทศบาลบ้านแพ้ว ได้ทำการนำพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันธาตุที่ได้รับจากรัฐสภานำมาประดิษฐานไว้ ณ. วัดธรรมจริยาภิรมย์ ซึ่งทางวัดได้ทำการก่อสร้างเจดีย์สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
          ศาสนสมบัติของวัดและการสนับสนุนการศึกษา
          วัดธรรมจริยาภิรมย์ ปี พ.ศ. 2555 มีเนื้อที่จำนวน 5 แปลง แบ่งเป็นวัด 1 แปลง เนื้อที่ 44 ไร่ 1 งาน 36ตารางวา อยู่ริมคลองดำเนินสะดวก ตำบลหลักสาม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร มีหนังสือกรรมสิทธิ์ คือ โฉนดที่ดิน เลขที่ 2740 เล่มที่ 28 หน้าที่ 40 ทิศเหนือ เลียบคลองดำเนินสะดวกยาว 150 เมตร ทิศใต้กว้าง 150 เมตร จรดคันสหกรณ์  ทิศตะวันออก เดิมจรดคูน้ำ ยาว 480 เมตร จรดคันสหกรณ์ ทิศตะวันตก จรดคูน้ำยาว 485 เมตร โดยประมาณ สถานที่ดังกล่าวทางวัดได้อนุญาตให้สร้างโรงเรียนในสถสนที่ของวัด 2หลัง
1.โรงเรียนวัดธรรมจริยาภิรมย์
เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เริ่มต้นที่มัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6  แต่เดิมเมื่อปีพ.ศ.2494เปิดระดับ ม.1-ม.3 เริ่มเรียนที่กุฏิพระ ต่อมาจึงย้ายมาเรียนที่อาคารเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษา โรงเรียนวัดธรรมจริยาภิรมย์


2.โรงเรียนอนุบาล (วันครู 2500) เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา
เริ่มตั้งแต่อนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6  ทั้งสองโรงเรียนได้รับความเจริญสูงสุด ได้ยกระดับเป็นผู้อำนวยการทั้งสองโรงเรียน

สำหรับที่ดินของวัดเป็นธรณีสงฆ์ มีดังนี้
แปลงที่ 2
อยู่ที่ตำบลท่านัด  อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่จำนวน 15 ไร่ 2งาน 16 ตารางวา   มีหนังสือกรรมสิทธิ์  คือ โฉนดที่ดิน เลขที่ 5447 เล่มที่55 หน้าที่47
แปลงที่ 3
อยู่ที่ตำบลหลักสาม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร  มีเนื้อที่จำนวน 24 ไร่ 54.6 ตารางวา มีหนังสือกรรมสิทธิ์ คือ โฉนดที่ดิน เลขที่ 2339 เล่มที่ 24 หน้าที่ 19
แปลงที่ 4
อยู่ที่ตำบลหลักสาม  อำเภอบ้านแพ้ว  จังหวัดสมุทรสาคร มีเนื้อที่จำนวน 17 ไร่ 2 งาน 38.8 ตารางวา มีหนังสือกรรมสิทธิ์ คือ โฉนดที่ดิน เลขที่ 2345 เล่มที่ 24 หน้าที่ 45
แปลงที่ 5
อยู่ที่ตำบลหลักสาม  อำเภอบ้านแพ้ว  จังหวัดสมุทรสาคร มีเนื้อที่จำนวน 29 ไร่ 1  งาน 83.6 ตารางวา มีหนังสือกรรมสิทธิ์ คือ โฉนดที่ดิน เลขที่ 2346 เล่มที่ 24 หน้าที่ 46
รวมจำนวนที่ดินของวัดธรรมจริยาภิรมย์ทั้งหมด เป็นจำนวน 121 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา





วัดธรรมจริยาภิรมย์ได้ยกย่องจากกรมการศาสนาให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง พ.ศ. 2513
เจ้าอาวาส ผู้รักษาการ ผู้ดูแลวัด ตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน พ.ศ.2555
1.       พระห่วง ศรีนิเวศน์                           เจ้าอาวาส        2444 - 2456
2.       พระบุญนาค                                  รักษาการ         2456 - 2457   
3.       พระอธิการจง                                 เจ้าอาวาส        2457 – 2475
4.       พระบุญรอด ทองเหลือง                      รักษาการ         2475 – 2475
5.       พระใบฎีกาบุญธรรม                          เจ้าอาวาส        2475 – 2487
6.       เจ้าคุณพระมงคลโมลี                         เจ้าอาวาส        2488 – 2551
7.       พระครูสมุห์ สำรอง โชติธมฺโม                รักษาการ         2551 – 2552
8.       พระใบฎีกาสมพงษ์ สมวโส                   เจ้าอาวาส        2552 – ปัจจุบัน
การศึกษาและการเผยแผ่ของวัดธรรมจริยาภิรมย์

ได้มีกิจกรรมทางพุทธศาสนา ในวันสำคัญทางพุทธศาสนาเช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา มีการตักบาตรทำบุญ เวียนเทียน วันเข้าพรรษา วันพระ 8 ค่ำ วันพระ 15 ค่ำ มีการทำบุญตลอด 3 เดือน มีการแสดงธรรม บรรยายธรรม วันออกพรรษามีการตักบาตรเทโว ทั้งยังส่งเสริมประเพณีสำคัญของชาติ เช่น วันขึ้นปีใหม่ ตรุษไทย วันสงกรานต์ และได้จัดกิจกรรมพิเศษ เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ คือวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราชและวันแม่แห่งชาติ คือวันที่ 12 สิงหาคม เป็นประจำทุกปี ทางวัดได้ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมประเภทนี้มาตลอด นับว่าววัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากนับตั้งแต่เริ่มสร้างมา และมีร่มไม้กว่า 100 ชนิด ทั้งไม้ในวรรณคดีและสมุนไพร ทำให้วัดเป็นสถานที่ร่มรื่นสมกับความหมายของวัดดังชื่อว่า วัดธรรมจริยาภิรมย์

1 ความคิดเห็น: